ตรวจสอบคูกันช้างในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พังเสียหาย
นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยนายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคูกันช้างในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พังเสียหาย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ โดยชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย
จากการตรวจสอบพบความเสียหายของคูกันช้างคอนกรีตซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในช่วง 1 กิโลเมตรแรก บริเวณตำบสนามชัยเขต อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยพบว่าแผ่นปูนซึ่งใช้เป็นดาดคอนกรีตและเสา เกิดการชำรุดพัง เสียหาย
ผู้รับจ้างและผู้ควบคุมงานได้ให้ข้อมูลสรุปว่า บริเวณดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นการก่อสร้างและการทดลองผิดทดลองถูกในช่วงของการเริ่มดำเนินการให้ตรงตามแบบ แต่เมื่อเทคานบน-ล่าง วางเสา พร้อมดาตคอนกรีตและบดอัดดินแล้วก็เกิดการพังทลาย
ผู้รับจ้างได้รื้อถอนของเดิมออกและทดลองทำตามแบบอีกครั้ง ก็ปรากฏว่า เกิดดินสไลด์เนื่องจากสภาพของพื้นดินบริเวณก่อสร้างประกอบกับสภาพอากาศขณะทำการก่อสร้างมีฝนตกชุก
ผู้ควบคุมงาน และผู้รับจ้าง จึงมีความเห็นร่วมว่าให้ขยับไปดำเนินการในส่วนของระยะ กม. ที่ 2 เป็นต้นไปก่อน แล้วจึงค่อยกับมารื้อถอนการก่อสร้างเดิมในระยะ กม. ที่ 1 ออกและทำใหม่ภายหลัง
ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้าง ในระยะ กม. ที่ 2-4 และระยะ กม.ที่ 5-6 เสร็จแล้ว และได้ส่งขอเบิกเงินค่างวดงานในระยะ กม. ที่ 2-4 และระยะ กม.ที่ 5-6 แล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ
นายเอกชัย แสนดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.68 ได้รายงานต่อ ผอ.สบอ.2 (ศรีราชา) เพื่อขอให้มีการประชุม คกก.บริหารโครงการก่อสร้าง เนื่องจากพบความบกพร่องของงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ค.68 ผอ.สบอ.2 ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องประชุม โดยที่ประชุมมีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานให้เป็นไปตามแบบการก่อสร้าง และได้สั่งให้ชะลอการก่อสร้างชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความเสียหายและรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ
นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.2 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 8 พ.ค.68 วิศวกรจาก สฟอ. อส. จำนวน 4 นาย จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการก่อสร้างและความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าจากสาเหตุใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนด หรือแบบที่ออกมานั้นไม่ได้มาตราฐาน ขอให้รอผลการลงตรวจสอบของวิศวกร เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง จากนั้น ให้ผู้รับจ้างดำเนินการรื้อถอนแนวก่อสร้างเดิมที่พังเสียหายในช่วงระยะ กม. ที่ 1 ออกเพื่อทำใหม่ให้มั่นค
งแข็งแรงต่อไป